วัดสาขลา
- ประเภท: ประวัติศาสตร์
- อำเภอ: พระสมุทรเจดีย์
วัดสาขลา มีพื้นที่ 27 ไร่ 2 งาน ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ส้นนิษฐานว่าสร้างในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ หรือในปี พ.ศ.2325 ครั้งที่ชาวบ้านช่วยกันขับไล่พม่าออกไปได้แล้ว ภายหลังได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ.2375
บ้านสาขลา เดิมมีชื่อว่า บ้านสาวกล้า เป็นชื่อตามคำบอกเล่าว่า ในสมัยสงครามเก้าทัพ* ผู้ชายในหมู่บ้านได้ถูกเกณฑ์ไปรบกันหมด เหลือเพียงผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุอยู่ภายในหมู่บ้าน ขณะนั้นเอง ได้มีพม่าลาดตระเวนมาเจอหมู่บ้าน ผู้หญิงที่อยู่เฝ้าหมู่บ้านจึงพากันจับอาวุธเท่าที่หาได้ในครัว เช่น สากตำข้าว มีดพร้าในครัว ขับไล่พม่าไปจนได้ หลังจากเหตุการณ์นั้น หมู่บ้านนี้จึงถูกเรียกขานว่า หมู่บ้านสาวกล้า ต่อมาได้ออกเสียงเพี้ยนไป จนเป็นคำว่า บ้านสาขลา ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีความเข้มแข็ง และยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ทำการประมง เพาะเลี้ยงกุ้งหอยปูปลา และใช้ลำคลองในการเดินทาง
พระปรางค์เอน เป็นองค์พระปรางค์เก่าแก่ ตั้งอยู่บริเวณริมคลอง แต่เดิมตอนสร้างนั้นสร้างทรงตรง ไม่ได้เอนอย่างปัจจุบัน กระทั่งเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อน ได้เกิดน้ำท่วมขัง ผืนดินที่ลอยตัวอยู่บนโคลนเกิดการทรุดตัว องค์พระปรางค์จึงได้เอียงไปทิศตะวันตก ประมาณ 15 องศา หลังจากนั้นก็ไม่ได้เอียงเพิ่ม และไม่มีทีท่าว่าจะล้มลงมา จึงได้ปล่อยให้เอนจนเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของบ้านสาขลา พื้นที่โดยรอบพระปรางค์ ได้มีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบขึ้นใหม่ กั้นกำแพงแก้วเป็นแนวสี่เหลี่ยมจตุรัสไว้โดยรอบ ตรงกลางเป็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่ มุมทั้ง 4 ของกำแพงแก้วประดับด้วยปรางค์ประจำทิศทั้ง 4 มีขนาดย่อมลงมา แต่ละด้านของกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูเดิม เป็นทางเข้าสู่ลานประทักษิณารอบองค์พระปรางค์
ปรางค์ประธานมีลักษณะเป็นทรงฝักข้าวโพด ซึ่งเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฐานทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนกลางของพระปรางค์ ทำเป็นซุ้มจระนำ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรไว้ทั้ง 4 ด้าน ปัจจุบันแตกหักไป เหลือให้เห็นบนพระปรางค์เพียง 2 ด้าน
เมื่อปี พ.ศ.2556 ชาวบ้านสาขลาได้มีการฟื้นฟู สืบทอดงานประเพณีการห่มผ้าพระปรางค์ โดยมีการแห่ผ้าแดงไปรอบชุมชน พร้อมทำพิธีบวงสรวง เพื่อรวมจิตศรัทธาของคนในชุมชน และเป็นการบูชาองค์พระปรางค์ ได้ร่วมกันทำบุญ ก่อพระเจดีย์ทรายบริเวณวัด และชักผ้าขึ้นห่มพระปรางค์เอียง