ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการ และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบ Video Conference
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 14.00 น.
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นายภูธนะ ชมภูมิ่ง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการ และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบ Video Conference โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ครั้งที่ 1/2565 โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณามาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมิติต่าง ๆ เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ซึ่งได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดการออกระเบียบเกี่ยวกับระบบการตัดคะแนนและการชะลอออกป้ายภาษี โดยให้กระทรวงคมนาคมสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้ทราบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทำให้บริเวณทางข้ามเป็นพื้นที่ปลอดภัย ติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบ ไฟเตือน ตีเส้น ทำลูกระนาด (Speed Bumb) เครื่องป้องกัน และนำเทคโนโลยีวิศวกรรมจราจรมาใช้ พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ต้องทำให้ทุกที่ที่มีทางข้ามมีการใช้เทคโนโลยีให้เหมือนกัน พร้อมสร้างความตะหนักรู้ให้คนมีวินัย มีน้ำใจในการใช้รถใช้ถนน เพราะอุบัติเหตุบริเวณทางข้ามมักเกิดจากคนไม่ชะลอความเร็วในพื้นที่คับขัน นอกจากนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงคมนาคมเร่งปรับปรุงกระบวนงานการสอบใบขับขี่ ให้มีการเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนน การใช้ความเร็ว ให้กับผู้ขอรับใบอนุญาตขับขี่ และให้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทั้ง 8 คณะ เพื่อจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนงานนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการปรับปรุงด้านกายภาพในด้านเครื่องหมายจราจร/สัญญาณเตือนให้ประชาชนสังเกตเห็น ทั้งบริเวณทางร่วม ทางแยก ทางม้าลาย หรือจุดคับขันต่าง ๆ ให้ครอบคลุมเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ กระทรวงมหาดไทย จะได้แจ้งนโยบายไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยใช้งบประมาณของท้องถิ่น นอกจากนี้ ให้คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทั้ง 8 คณะ เร่งจัดประชุมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหามิติต่าง ๆ และนำผลการประชุมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในทางปฏิบัติต่อไป
“ในกรณีการเสียชีวิตของคุณหมอกระต่ายในครั้งนี้ เป็นการลงทุนที่แพงมาก เราต้องฉวยโอกาสสูงสุด ผลักดันให้การสูญเสียอย่างใหญ่หลวงในครั้งนี้ เกิดการสร้างกระแสสังคมทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนตื่นตัวในการขับรถอย่างระมัดระวัง เพราะการขับรถ สิ่งที่ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย คือ “ผู้ขับขี่” ซึ่งแม้ว่าภาครัฐจะมีความพยายามในการแก้กฎหมายและติดตั้งสัญญาณให้ครบถ้วน แต่สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือ คนใช้รถใช้ถนนไม่ใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวังหรือมีวินัยเท่าที่ควร ดังนั้น ต้องให้คนในสังคมที่ใช้รถใช้ถนนมีจิตสำนึก มีจิตวิญญาณ มีวินัย มีวัฒนธรรมการใช้รถที่ดี สังคมใดจะดี คนในสังคมต้องดี สิ่งนี้จะต้องทำควบคู่กับความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด นำประเด็นเรื่องการหยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางข้ามบรรจุในวาระการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันในพื้นที่จังหวัด ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนให้เกิดความปลอดภัย พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความปลอดภัยทางถนนในภาพรวม และหารือวาระเร่งด่วนด้านการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มคนเดินเท้า ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการ นปถ. ได้นำเสนอที่ประชุมพิจารณาแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน จากกรณีรถจักรยานยนต์ชนคนบริเวณทางข้ามภายใต้ 3 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการด้านกฎหมาย โดยจะเพิ่มโทษกรณีผู้ขับขี่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจร ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 รวมถึงจัดให้เป็นฐานความผิดที่ต้องตัดคะแนนความประพฤติของผู้ขับขี่ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดและกล้องตรวจจับความเร็วในจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ อาทิ บริเวณทางร่วมทางแยก และทางข้ามพร้อมเร่งจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ประวัติและการกระทำความผิดของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลทะเบียนรถ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง 2. มาตรการด้านถนน โดยจัดทำมาตรฐานทางข้าม เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างทางข้ามให้มีความปลอดภัย พร้อมสำรวจมาตรฐานวิศวกรรมจราจรบริเวณทางข้ามทั่วประเทศ เพื่อวิเคราะห์และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงปรับปรุงวิศวกรรมจราจรบริเวณทางข้ามให้มีมาตรฐานความปลอดภัย โดยเฉพาะการชะลอความเร็วของรถก่อนถึงทางข้าม การจัดทำเส้นทางข้ามและข้อความบนพื้นทาง การติดตั้งป้ายเตือน ป้ายสัญลักษณ์ในจุดที่เหมาะสมและมองเห็นได้ชัดเจนทั้งผู้ขับขี่และคนเดินเท้า และการติดตั้งสัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนน และ 3. มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนโดยสร้างการรับรู้และความตระหนัก ด้านความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มคนเดินเท้าให้กับประชาชนผ่านทุกช่องทาง โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ พร้อมพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่กลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา
ในช่วงท้าย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในการเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความปลอดภัยทางถนนในภาพรวม ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจากพฤติกรรมเสี่ยง 4 ประการ ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ให้หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ได้แก่ 1) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง ต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น ควบคู่การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความตระหนัก จิตสำนึก และรับผิดชอบต่อสังคม โดยลดพฤติกรรมเสี่ยง ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย รวมทั้งการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของบุคคลอายุไม่เกิน 20 ปี 2) ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ใช้กลไกทุกระดับทั้งจังหวัด กรุงเทพมหานคร อำเภอ และท้องถิ่น บูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน จัดทำแผนบูรณาการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยให้ถือเป็นภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี พ.ศ. 2570 และ 3) ให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณในการบูรณาการในการระงับยับยั้งอุบัติเหตุทางถนนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ พยายามหาแนวทางการแก้ไข ซึ่งจะได้มีการเร่งรัดปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การแก้ไขขั้นตอนการสอบใบขับขี่ ให้มีการส่งเสริมด้านวินัย และวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศกว่า 2 ล้านคน ได้เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อรณรงค์และกระตุ้นให้สังคมเกิดความตื่นตัวในการมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนให้เกิดความปลอดภัย