นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสภาที่ปรึกษามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ รับใช้สังคม ปีการศึกษา 2564 ครั้งที่ 1/2564
วันที่ 12 มกราคม 2565 เวลา 09.30 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ มอบหมายให้ นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสภาที่ปรึกษามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ รับใช้สังคม ปีการศึกษา 2564 ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ที่ประชุมร่วมรับทราบความเป็นมาของการดูแลพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ และคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสภาที่ปรึกษามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ รับใช้สังคม ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้เสนอแก่ที่ประชุมฯ ว่า ควรเพิ่มนายอำเภอบางพลีเป็นคณะกรรมการฯ เนื่องจากอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่อำเภอเป็นของนายอำเภอซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการในเชิงพื้นที่ตามกฎหมาย อีกทั้งมีอำนาจสั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปฏิบัติหน้าที่ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ที่ประชุมร่วมพิจารณา จำนวน 4 เรื่อง ประกอบด้วย
1. แนวทางการดูแลพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างยังยืน แบ่งเป็น 1) การดูแลสวัสดิภาพนักศึกษาและการจัดระเบียบสังคม ได้วางแผนการทำงาน ได้แก่ การประชุม การตรวจพื้นที่ และการประชุมประชาคม 2) การส่งเสริมการพัฒนาหอพักในชุมชน ได้วางแผนการทำงาน ได้แก่ การประชุม การออกเยี่ยมหอพักพันธมิตร หอพักติดดาว 3) การสร้างเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ได้วางแผนการทำงาน ได้แก่ การประชุม การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพดี การจัดกิจกรรมพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยและในชุมชน และการจัดแข่งขันกีฬาสร้างสัมพันธภาพกับชุมชน ส่วนราชการ
2. โครงการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้มีการดำเนินการจัดทำโครงการบริการวิชาการให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โดยดำเนินการตามความต้องการของหน่วยงานนั้นๆ
3. โครงการนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคสมทบสำหรับข้าราชการตำรวจและบุคคลทั่วไป โดยใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์ผ่าน E-Learning ผสมผสานกับการเรียนในห้องเรียนในวันเสาร์หรืออาทิตย์
4. โครงการศูนย์สุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านการพัฒนาความสุขสมบูรณ์ในชีวิตของผู้สูงอายุ