จังหวัดสมุทรปราการ : กรุงเทพมหานคร หารือพื้นที่ทับซ้อนย่านพระสมุทรเจดีย์ ชวนจังหวัดปริมณฑลร่วมแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด
วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือการทำงาน กทม. และจังหวัดปริมณฑล ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยรองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือบริหารจัดการผังเมืองและการใช้ประโยชน์พื้นที่ ผู้บริหารสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการระบายน้ำ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ผู้บริหารจังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสาคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1-2 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ
.
ที่ประชุมรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ของคณะอนุกรรมการ
ขับเคลื่อนความร่วมมือการทำงานกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล 5 คณะ ประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือบริหารจัดการสาธารณภัย รายงานการถอดบทเรียนการบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล และการสร้างความเข้าใจและข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือบริหารจัดการผังเมืองและการใช้ประโยชน์พื้นที่ รายงานแนวทางแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินและผังเมืองระหว่างพื้นที่รอยต่อไม่สอดคล้อง
3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม รายงานการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง การแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล และการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา
4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือบริหารจัดการจราจรและขนส่ง รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการจราจร ถนนกรุงเทพ – นนทบุรี บริเวณปากซอยกรุงเทพ – นนทบุรี 56 แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการจราจร บริเวณถนนพิบูลย์สงคราม ความก้าวหน้าในการศึกษาความเป็นไปได้ในการออกแบบการสร้างสะพานข้ามแยกพงษ์เพชรใหม่ ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานบนถนนราชพฤกษ์ และขอความร่วมมือดำเนินการกวดขัน ห้ามรถบรรทุกวิ่งบนถนนราชพฤกษ์ในชั่วโมงเร่งด่วน
5. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือบริหารจัดการน้ำ รายงานแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากฝนตกหนัก ระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล และแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากสิ่งกีดขวางทางน้ำระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล รวมทั้งรายงานการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ คลองบางกอกน้อย – คลองบางกรวย – คลองอ้อมนนท์ และการแก้ไขปัญหาสะพานข้ามคลองหลวงแพ่งถล่ม ในพื้นที่ระหว่างเขตลาดกระบัง กับจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบ และมอบหมายคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 5 คณะ ดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสำรวจจุดที่เกิดปัญหาระหว่างรอยต่อจังหวัดเพิ่มเติมและเร่งประสานความร่วมมือดำเนินการแก้ไข
.
อีกทั้งได้หารือประเด็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร บริเวณหมู่ที่ 2 ตำบลบ้านคลองสวน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งฐานข้อมูลของกรมที่ดินได้ระบุว่า บริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ แต่ในส่วนฐานข้อมูลขอบเขตปกครองของกรมการปกครอง ระบุว่าบริเวณดังกล่าวนั้น เป็นพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จึงทำให้ฐานข้อมูลมีความขัดแย้งกัน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาหาข้อสรุป และรายงานความก้าวหน้าในการประชุมครั้งต่อไป
.
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือจังหวัดปริมณฑลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่ง กทม. ได้ประสานกรมประมงร่วมดำเนินการตามมาตรการในการแก้ไขปัญหา 6 มาตรการ ประกอบด้วย
1. การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ
2. กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพง
3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์
4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน ลงพื้นที่สำรวจจังหวัดที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง
5. การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด
6. การติดตาม ประเมินผล ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งป้องกันแพร่ระบาดไปยังพื้นโดยรอบของจังหวัดปริมณฑล จึงขอความร่วมมือจังหวัดปริมณฑลในการนำมาตรการดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการในพื้นที่ตามความเหมาะสม รวมทั้งขอความร่วมมือทุกจังหวัดดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ ลำน้ำที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ที่มีการระบาด และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเกษตรกรรู้จักปลาหมอคางดำ พร้อมทั้งห้ามจับมาเลี้ยง
แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรปราการ
ภาพ / ข่าว : สำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร