ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ และหัวหน้าส่วนราชการ ได้ร่วมให้การต้อนรับ ฯพณฯ คอลเลน วิดเซน เคลาพิเล ประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งประชาชาติ และคณะ ในโอกาสเดินทางมาเพื่อการศึกษาดูงานการพัฒนาจังหวัด การดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูจังหวัดจากวิกฤตโรคโควิด-19 และเยี่ยมชมโครงการในพระราชดำริฯ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เวลา 11.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายภูธนะ ชมภูมิ่ง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการ นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ และหัวหน้าส่วนราชการ ได้ร่วมให้การต้อนรับ ฯพณฯ คอลเลน วิดเซน เคลาพิเล ประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งประชาชาติ และคณะ ในโอกาสเดินทางมาเพื่อการศึกษาดูงานการพัฒนาจังหวัด การดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูจังหวัดจากวิกฤตโรคโควิด-19 และเยี่ยมชมโครงการในพระราชดำริฯ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการได้กล่าวว่า จังหวัดสมุทรปราการเป็นจังหวัดในกลุ่มภาคกลางปริมณฑล มีพื้นที่ 1,004 ตารางกิโลเมตร
แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ 50 ตำบล 394 หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จำนวน 49 แห่ง แบ่งเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 26 แห่ง
เทศบาล 22 แห่ง (เทศบาลนคร 1 แห่ง/ เทศบาลเมือง 7 แห่ง/ เทศบาลตำบล 14 แห่ง)
มีประชากร ทั้งสิ้น 1,351,479 คน จังหวัดสมุทรปราการ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) มูลค่า 772,498 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ ประชาชนมีรายได้ต่อหัว 349,406 บาท/คน/ปี สูงเป็นลำดับที่ 3 ของภาค และสูงเป็นลำดับที่ 9 ของประเทศ
จังหวัดสมุทรปราการได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาไว้ว่า “เมืองอุตสาหกรรมสะอาด ปลอดภัย น่าอยู่” ขับเคลื่อนผ่านประเด็นยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่
1) ส่งเสริมอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมให้มีศักยภาพเพื่อการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน โดยพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2) พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยยกระดับรายได้และการจัดการด้านการศึกษา สาธารณสุข ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอ เท่าเทียมและทั่วถึง
3)ส่งเสริมระบบ Logistics สู่ประชาคมอาเซียน โดยพัฒนาการบริหารจัดการและปรับปรุงโครงข่าย การคมนาคมขนส่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
4) ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม โดยการพัฒนา
แหล่งท่องเที่ยว สินค้า การบริการและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักและประทับใจ
ของนักท่องเที่ยว
5) เสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยการพัฒนาระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามความมั่นคงพร้อมทั้งพัฒนา
ประชาธิปไตยแก่ประชาชน
สำหรับผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อสภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการนั้น เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะแรก ทำให้ทุกประเทศใช้มาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยการประกาศล็อกดาวน์ จำกัดการเคลื่อนย้ายของประชาชนเพื่อจำกัดการระบาดของโรค จนกว่าจะมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคขึ้นมา ทำให้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว การให้บริการ ด้านต่างๆ ประสบปัญหาอย่างหนัก โดยในระหว่างช่วงเวลาที่ยังไม่มีวัคซีน ทางรัฐบาลไทยก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางสาธารณสุขหลายมาตรการ แต่เนื่องจากในปัจจุบันนี้มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุข แต่เนื่องจากสถานการณ์ของผู้ประกอบการหลายรายยังขาดกำลังทรัพย์ ที่จะฟื้นฟูตัวเอง ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการ เพื่อช่วยเหลือ
ประชาชนที่ขาดกำลังซื้อ ให้มีกำลังซื้อสินค้าและบริการ เพื่อเป็นการกระตุ้นการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ
สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการมีจำนวนทั้งสิ้น 10 โครงการ ดังนี้
1) โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข จำนวน 1 โครงการ
2) โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ จำนวน 3 โครงการ
3) โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร จำนวน 2 โครงการ
4)โครงการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา จำนวน 2 โครงการ
5) โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 โครงการ
6) โครงการพัฒนาด้านบูรณาการอื่นๆ จำนวน 1 โครงการ