ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ มอบหมายให้ นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดสมุทรปราการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 7/2565
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30 น.
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ มอบหมายให้ นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดสมุทรปราการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 7/2565 ณ ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง
ที่ประชุมร่วมติดตามข้อมูลสถานะโครงการที่ได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และข้อมูลกำหนด. ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่น PM2.5 เพื่อเฝ้าระวังแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
และที่ประชุมได้รับทราบรายงานสภาพอากาศและสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ข้อเสนอ/แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดสมุทรปราการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในการนี้ที่ประชุมได้พิจารณาการเสนอแผนงาน/กิจกรรมที่จะดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ใน 7 วันข้างหน้า ดังนี้
1. ศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ร่วม
– เพิ่มเติมอินโฟกราฟิกข้อมูลโดยเน้นข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบอย่างกว้างขวาง
2. ศูนย์ประสานการปฏิบัติ
– กำหนดดำเนินการจัดกิจกรรมจิตอาสา จำนวน 33 ครั้ง และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 2,170 คน
3. ส่วนปฏิบัติการ
3.1 ชุดปฏิบัติการด้านคมนาคม
– มีแผนออกจุดตรวจวัดควันดำของรถ จำนวน 2 ครั้ง และออกจุดตรวจวัดควันดำของเรือ จำนวน 1 ครั้ง
3.2 ชุดปฏิบัติการควบคุมการเผา
– มีแผนการฝึกอบรมการควบคุมการเผา
3.3 ชุดปฏิบัติการควบคุมการก่อสร้าง
– ดำเนินการฉีดพ่น ดูดกวาด ในพื้นที่ที่มีการดำเนินการก่อสร้าง
3.4 ชุดปฏิบัติการภาคอุตสาหกรรม
– มีแผนตรวจโรงงานอุตสาหกรรมที่ที่เหลือ โดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
3.5 ชุดปฏิบัติการทำความสะอาดและลดฝุ่นละอองในอากาศ
– เน้นลงพื้นที่เสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งชุมชน และพื้นที่ที่มีสภาพการจราจรติดขัด
3.6 ชุดปฏิบัติการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพ
– จัดกิจกรรมให้ความรู้ในหน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เน้นกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว และเฝ้าระวัง 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือดและสมองอุดตันขาดเลือด
และประธานมีข้อสั่งการให้ฝ่ายเลขาดำเนินการปรับวาระการประชุมในส่วนของผลการดำเนินการ โดยนำแผนงานในสัปดาห์นี้เป็นผลการดำเนินการในสัปดาห์หน้า เพื่อในสัปดาห์ต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รายงานผลตามแผนที่เสนอในสัปดาห์นี้ และให้ฝ่ายเลขารวบรวมผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้ง่ายต่อการถอดบทเรียน และหาแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมร่วมรับทราบข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ดังนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดดังกล่าว เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ ในส่วนของพี่น้องประชาชนขอให้ดูแลสุขภาพ สวมใส่หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันตัวเองเมื่อออกนอกบ้าน เป็นการป้องกันผลกระทบในช่วงที่ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากจอดรถยนต์ขอความกรุณาดับเครื่องยนต์ และขอให้หมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ไม่ให้ก่อควันดำ รวมทั้ง งดการเผาในที่โล่ง