ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย ปลัดจังหวัดสมุทรปราการ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการ และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (VCS) เพื่อขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่
วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เวลา เวลา 09.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นายเจนเจตน์ เจนนาวิน ปลัดจังหวัดสมุทรปราการ นายภูธนะ ชมภูมิ่ง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการ และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (VCS) เพื่อขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม
สืบเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงปี 2563-2564 ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ โดยเฉพาะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ GDP ของประเทศไทยติดลบถึง 6.2 % และมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดจากปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมและน้ำแล้ง ทำให้การลงทุนจากภาคเอกชนชะลอตัว หนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93 % ณ สิ้นปี 2564 โดยพบว่าคนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง 14.3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่มีรายได้น้อยและมีบุคคลที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง
ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยซึ่งบทบาทในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนตามแนวทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based) จึงได้เสนอการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง
(Suficiency Economy Development Zones : SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) โดยภาครัฐจะได้สนับสนุนการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน วัสดุอุปกรณ์พื้นฐาน อำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ที่จำเป็น ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ภาควิชาการในพื้นที่ร่วมพัฒนาและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ ต่อยอดด้วยงานวิจัยและวัตกรรมที่เหมาะสม โดยมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการบริหารงานโครงการ วางแผน พัฒนาและต่อยอดผลผลิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เกิดการกระจายสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา พื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยพิบัติซ้ำซาก และใช้โอกาสจากงานที่มีทักษะและศักยภาพที่ประสบกับปัญหาการเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับไปยังบ้านเกิด เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย ด้วยการให้ความรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ ควบคู่กับการศึกษาถึงรากเหง้าภูมิปัญญาดั้งเดิม และเพิ่มพูนด้วยชุดความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และภูมิสังคม เพื่อพัฒนาหรือยกระดับเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยมอบหมายให้ทางจังหวัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย พื้นที่ปฏิบัติการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหา สภาพภูมิสังคม และมีความพร้อมของพื้นที่ในการดำเนินการจากพื้นที่ของส่วนราชการ พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่องค์กรศาสนา พื้นที่ภาคเอกชน และพื้นที่ภาคประชาชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเข้าร่วมโครงการ เพื่อกำหนดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป