นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดสมุทรปราการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 10/2565
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น.
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ มอบหมายให้ นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดสมุทรปราการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 10/2565 ณ ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง
ที่ประชุมร่วมติดตามข้อมูลสถานะโครงการที่ได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
และที่ประชุมได้รับทราบรายงานสภาพอากาศและสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ข้อเสนอ/แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดสมุทรปราการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในการนี้ที่ประชุมได้พิจารณาการเสนอแผนงาน/กิจกรรมที่จะดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ใน 7 วันข้างหน้า ดังนี้
1. ศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ร่วม
– เพิ่มเติมอินโฟกราฟิกข้อมูลโดยเน้นข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ และข้อมูลทางวิชาการของส่วนราชการต่างๆ เผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบอย่างกว้างขวาง ผ่านช่องทางต่างๆ
2. ศูนย์ประสานการปฏิบัติ
– กำหนดดำเนินการจัดกิจกรรมจิตอาสา จำนวน 25 ครั้ง และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 1,520 คน
3. ส่วนปฏิบัติการ
3.1 ชุดปฏิบัติการด้านคมนาคม
– ประชาสัมพันธ์แนะนำเพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมกับผู้รับบริการ ณ สำนักงานขนส่งฯ และมีแผนออกตรวจวัดควันดำรถ และมีการตั้งจุดตรวจวัดควันดำรถเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับรถที่ค่าควันดำเกินที่กำหนดตามเส้นทางถนนสุขุมวิท
3.2 ชุดปฏิบัติการควบคุมการเผา
– ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดการเผา เฝ้าระวังและตรวจสอบพื้นที่เผาไหม้ ในพื้นที่การเกษตร และส่งเสริมการปลูกปอเทือง
3.3 ชุดปฏิบัติการควบคุมการก่อสร้าง
– ดำเนินการฉีดพ่นละอองน้ำเป็นประจำทุกวัน สำหรับงานดูดฝุ่น ทำความสะอาดผิวทาง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง อาจมีการปรับเพิ่มการดำเนินงานตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
3.4 ชุดปฏิบัติการภาคอุตสาหกรรม
– มีแผนตรวจโรงงานอุตสาหกรรมที่ที่เหลือ โดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จำนวน 19 แห่ง
3.5 ชุดปฏิบัติการทำความสะอาดและลดฝุ่นละอองในอากาศ
– เน้นลงพื้นที่เสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งชุมชน และพื้นที่ที่มีสภาพการจราจรหนาแน่น ในทุกวันจนกว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองจะคลี่คลาย
3.6 ชุดปฏิบัติการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพ
– รายสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และคาดการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ผ่านช่องทางกลุ่มไลน์ เฝ้าระวังร้านค้าจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้อยู่ในราคามาตรฐาน จัดกิจกรรมให้ความรู้ในหน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง และเฝ้าระวัง 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือดและสมองอุดตันขาดเลือด
และประธานมีข้อสั่งการให้ฝ่ายเลขาปรับวาระการประชุมในประเด็นรายงานผลการดำเนินการในส่วนของศูนย์ประสานการปฏิบัติ โดยให้อำเภอรายงานผลด้วย นอกจากนี้ให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับหนังสือสอบถามข้อมูลสถานะโครงการที่ได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้รายงานข้อมูลภายในวันที่ 15 มีนาคม 2565 และขอความอนุเคราะห์ให้นายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำชับให้ อปท. ในพื้นที่รายงานข้อมูลให้ฝ่ายเลขาทราบด้วย และหากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นจะดำเนินการขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดสมุทรปราการ จากเดิมประชุมสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เป็นสองสัปดาห์ครั้ง แต่ยังคงให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ที่ประชุมร่วมรับทราบข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ดังนี้ สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในจังหวัดสมุทรปราการยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ให้มีการบูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งสื่อสารความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทั้งการป้องกันสุขภาพ และการมีส่วนร่วมในการลดฝุ่นละออง กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลพื้นที่จุดเผา จุดเสี่ยง สร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง สอดส่องดูแลมิให้มีการลักลอบเผาขยะในที่สาธารณะและที่เอกชน เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพื้นที่และรณรงค์สร้างความเข้าใจและความร่วมมือจากประชาชนงดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกงดการเผาในที่โล่ง เฝ้าระวังเหตุเพลิงไหม้สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงการควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองในอากาศและควบคุมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในจังหวัดสมุทรปราการให้อยู่ในระดับปกติ