นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดสมุทรปราการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 5/2565
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30 น.
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ มอบหมายให้ นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดสมุทรปราการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 5/2565 ณ ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสภาพอากาศและสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และ
คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ข้อเสนอ/แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดสมุทรปราการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในการนี้ที่ประชุมได้พิจารณาแผนปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดสมุทรปราการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ใน 7 วันข้างหน้า ดังนี้
1.ศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ร่วม
– เพิ่มเติมอินโฟกราฟิกข้อมูลเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และประสานข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบต่อไป
2.ศูนย์ประสานการปฏิบัติ
– กำหนดดำเนินการจัดกิจกรรมจิตอาสา จำนวน 32 ครั้ง และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 1,850 คน
3. ส่วนปฏิบัติการ
3.1 ชุดปฏิบัติการด้านคมนาคม
– มีแผนออกจุดตรวจวัดควันดำของรถ จำนวน 2 ครั้ง และออกจุดตรวจวัดควันดำของเรือ จำนวน 1 ครั้ง
3.2 ชุดปฏิบัติการควบคุมการเผา
– มีแผนฝึกอบรมการควบคุมการเผา และดำเนินการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการฝึกอบรมดังกล่าว
3.3 ชุดปฏิบัติการควบคุมการก่อสร้าง
– ดำเนินการแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เพื่อขอทราบโครงการที่อาจก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
3.4 ชุดปฏิบัติการภาคอุตสาหกรรม
– มีแผนตรวจโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
3.5 ชุดปฏิบัติการทำความสะอาดและลดฝุ่นละอองในอากาศ
– เน้นลงพื้นที่เสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ และอำเภอพระประแดง
3.6 ชุดปฏิบัติการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพ
– จัดกิจกรรมให้ความรู้ในหน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เฝ้าระวัง 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือดและสมองอุดตันขาดเลือด
นอกจากนี้ที่ประชุมร่วมรับทราบคุณสมบัติเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 (Nong Pim Air Detector) โดยสำนักงานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังส่วนราชการ ให้วิเคราะห์จุดที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เพื่อนำเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ไปติดตั้ง เพื่อเฝ้าระวังแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยขอให้ส่วนราชการแจ้งข้อมูลให้ทราบภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้ปฏิบัติงานเป็นไปอย่างทันท่วงที และง่ายต่อการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น
และประธานมีข้อสั่งการให้ฝ่ายเลขาดำเนินการสรุปประเด็นรายงานการประชุมทุกครั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการทราบ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและต่อเนื่อง