จังหวัดสมุทรปราการ เปิดงานแสงเสียงสื่อผสมในรูปแบบมิวสิคัลรำลึกเหตุการณ์ ร.ศ.112
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับกองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแสดง “แสงเสียงสื่อผสมในรูปแบบมิวสิคัลรำลึกเหตุการณ์ ร.ศ.112” ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดสมุทรปราการ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรปราการทางด้านประวัติศาสตร์ “การแสดงแสงเสียงสื่อผสมในรูปแบบมิวสิคัล รำลึกเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ตอน ปราการเวลา The Theatre ระหว่างวันที่ 14-17 มีนาคม 2567 ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พลเรือเอกพงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นางสาวนันทิดา แก้วบัวสาย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และประชาชนจังหวัดสมุทรปราการ และใกล้เคียง ร่วมรับชมมิวสิคัลรำลึกเหตุการณ์ ร.ศ.112 เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย แก่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ และเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย รวมถึงเพื่อสร้างรายได้แก่ประชาชนกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดสมุทรปราการ
เหตุการณ์ ร.ศ.112 ตรงกับปีพุทธศักราช 2436 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในช่วงนั้นชาติตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลสำคัญทางแถบเอเชีย โดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญ คือการแสวงหาอาณานิคม ประเทศต่าง ๆ เช่น ญวน เขมร ลาว ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนพม่าและมลายูตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สำหรับประเทศไทย ได้ถูกชาติมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสเข้ามารุกราน โดยในวันที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2436 เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำ คือเรือสลุปแองคองสตังค์ และเรือปืนโคแมต ได้รุกล้ำสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามายังกรุงเทพฯ และได้เกิดการปะทะกับฝ่ายไทย ทั้งหมู่ปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และเรือรบไทยที่จอดอยู่เหนือป้อมพระจุลจอมเกล้า จำนวน 9 ลำ ผลปรากฏว่า เรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมต ที่ได้รับความเสียหายบางส่วน สามารถตีฝ่าแนวป้องกันที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาได้จนถึงกรุงเทพฯ และเทียบท่าอยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส โดยมีทหารประจำเรือเสียชีวิตรวม 3 นาย และเรือนำร่องถูกยิงเกยตื้นอยู่ริมฝั่ง ส่วนฝ่ายไทยเรือที่ได้รับความเสียหายจากกระสุนปืนใหญ่จากฝ่ายตรงข้าม จำนวน 4 ลำ ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้ไทยเราต้องเสียดินแดนบางส่วนแก่ฝรั่งเศสชดใช้ค่าปรับสงคราม เพื่อแลกเปลี่ยนกับการดำรงไว้ซึ่งเอกราช
แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรปราการ
แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรปราการ