จังหวัดสมุทรปราการ จัดงานสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2566 อย่างยิ่งใหญ่ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านชาวไทยรามัญ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว
วันที่ 23 เมษายน 2566 เวลา 15.30 น. นายสุจินต์ วาจากิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานเปิดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดงประจำปี 2566 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสืบสานประเพณีพื้นบ้านของชาวไทยรามัญ และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบทอด รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรปราการ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ประเพณีสงกรานต์พระประแดงให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประทศได้รู้จักมากขึ้น โดยมี นางจิระพร วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง นายโชติพงศ์ เปล่งวิทยา นายอำเภอพระประแดง นางสุมลฑา เจริญศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมงานครั้งนี้
ทั้งนี้ นางจิระพร วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง กล่าวว่า ประเพณีสงกรานต์พระประแดง เป็น 1 ในงานเทศกาลมหาสงกรานต์ 4 ภาค ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยแต่เดิมเรียกกันว่า งานสงกรานต์ปากลัด เป็นวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านที่ชาวไทยรามัญได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักกรี ตามประเพณีเมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะแต่งกายชุดไทยรามัญไปทำบุญตามวัดต่างๆ และมีการปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อดวงชะตาเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว เมื่อถึงเวลากลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามบ้านเรือนต่างๆ
งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง จะจัดหลังจากวันสงกรานต์ไทยไปหนึ่งอาทิตย์ จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือ การมีขบวนแห่นางสงกรานต์ พร้อมด้วยขบวนแห่นก-แห่ปลา ที่ยิ่งใหญ่สวยงามตระการตาที่หลายหน่วยงาน / หมู่บ้านร่วมกันจัดขึ้น สงกรานต์พระประแดงนั้น เป็นที่สนุกสนานยิ่งนักเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วประเทศ ถึงความยิ่งใหญ่และความสวยงามตระการตาของขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผาชาติ ซึ่งชาวพระประแดงได้รักษาประเพณีไว้ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรปราการ