จังหวัดสมุทรปราการ จัดกิจกรรมส่งเสริมท่องเที่ยวตลาดโบราณบางพลี “ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สัมผัสภูมิปัญญาไทย”
วันที่ 6 สิงหาคม 2565 เวลา 11.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นางสาวจรรยารักษ์ สาธิตกิจ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ นายสมศักดิ์ แก้วเสนา นายอำเภอบางพลี นายพัฒนพงศ์ จงรักดี นายกเทศมนตรีตำบลบางพลี หัวหน้าส่วนราชการและประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรปราการ กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดโบราณบางพลี “ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สัมผัสภูมิปัญญาไทย” ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ตลาดโบราณบางพลี อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
อำเภอบางพลี เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการที่มีศักยภาพ ด้านระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยว โดยมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรมที่ยังคงเอกลักษณ์และทรงคุณค่า เช่น งานประเพณีรับบัวที่ยิ่งใหญ่เป็นแห่งเดียวในประเทศไทยและหนึ่งเดียวในโลก แต่จากสถิติด้านการท่องเที่ยวของอำเภอบางพลีปรากฎว่าจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่ขยายตัวมากเท่าที่ควร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริม พัฒนาการตลาดและการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย จังหวัดสมุทรปราการ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดโบราณบางพลี “ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สัมผัสภูมิปัญญาไทย” ขึ้นทุกวันเสาร์และอาทิตย์ตลอดเดือนสิงหาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 8 วัน โดยเริ่มกิจกรรมตั้งแต่ วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ณ ตลาดโบราณบางพลี อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการท่องเที่ยวและส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรปราการ
2. เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น
3. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น
4. เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีโอกาสร่วมสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
5. เพื่อปลูกฝังให้ประชาชนและเยาวชนในพื้นที่เกิดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อท้องถิ่นของตน
6. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมของดีในท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย