วัดบางพลีใหญ่ใน (วัดพระนอน) ตั้งอยู่บริเวณริมคลองสำโรง ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีพระนอนปางไสยยาสน์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หล่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กลงรักปิดทองตลอดทั้งองค์ ความยาวขององค์พระนอนตั้งแต่ปลายเกศ ถึงพระบาทยาว 52 เมตร 50 เซนติเมตร ความกว้าง 7 เมตร สูง 18 เมตร (วัดจากพื้นถึงปลายเกศ)
วัดบางพลีใหญ่ใน (วัดหลวงพ่อโต) ตั้งอยู่บริเวณริมคลองสำโรง ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีหลวงพ่อโตซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 175 เซนติเมตร สูง 2 เมตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดใกล้เคียง
ตลาดน้ำบางพลี ตั้งอยู่บริเวณริมคลองสำโรงติดกับวัดบางพลีใหญ่ใน ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีอายุประมาณ 141 ปี เดิมชื่อ “ตลาดศิริโสภณ” เป็นตลาดเก่าแก่ตลาดหนึ่งพื้นตลาดทำจากพื้นไม้ สามารถเดินติดต่อกันได้ถึง 500 เมตร ตลาดนี้ตั้งอยู่บนฝั่งเหนือของคลองสำโรงช่วงอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
สถานตากอากาศบางปู ตั้งอยู่ 164 หมู่ 2 ถนนสุขุมวิท ต.บางปูใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ พื้นที่ด้านหน้าติดถนนสุขุมวิท อยู่ระหว่าง กม. ที่ 37 ด้านหลังติดทะเลด้านอ่าวไทยตลอดแนว ยาว 2 กม. มีพื้นที่ 639 ไร่ เศษ เป็นสถานที่พักผ่อน ซึ่งบริเวณโดยรอบปกคลุมล้อมรอบด้วยป่าชายเลนที่ยังคงความสมบูรณ์ตามระบบนิเวศวิทยา “สะพานสุขตา” ยืนออกไปสู่ทะเลประมาณ 500 เมตร และมี “ศาลาสุขใจ” ซึ่งเป็นร้านอาหารสวัสดิการของกองอำนวยการสถานพักผ่อนกรมพลาธิการทหารบก สามารถนั่งรับประทานอาหาร พร้อมทั้งชมทัศนียภาพอ่าวไทยได้
เมืองโบราณ ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 33 ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ เป็นพื้นที่ราบที่จัดตกแต่งให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาณาเขตประเทศไทย ปัจจุบันมีสิ่งก่อสร้างจัดแสดงมากกว่า 122 แห่ง โดยได้นำเสนอสถานที่สำคัญๆ ทั้งที่เป็นแบบจำลอง และการถอดแบบของสถานที่ต่างๆ จากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ สิ่งก่อสร้างมีทั้งขนาดย่อส่วนและเท่าขนาดจริง
ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่ 555 หมู่ 7 ถนนท้ายบ้าน ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 ปัจจุบันเป็นฟาร์มจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในเป็นสถานเพาะเลี้ยงจระเข้ขนาดต่าง ๆ กว่า 60,000 ตัว เสือ ลิงชิมแปนซี ชะนี เต่า งู นก อูฐ ฮิปโปโปเตมัส กวาง และปลาจำนวนมาก
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ตั้งอยู่ถนนสุขุมวิท ตำบลบางเมืองใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ บนเนื้อที่ 12 ไร่ เป็นสถานที่เก็บรักษาศิลปวัตถุ มรดกทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ และเพื่อสืบสานอนุรักษ์งานศิลป์ไทยให้คงอยู่สืบชั่วลูกชั่วหลานสืบไป ช้างเอราวัณหรือช้างสามเศียร เป็นประติมากรรมลอยตัวด้วยวิธีเคาะมือแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำจากโลหะทองแดง แผ่นเล็กสุดขนาดเท่าฝ่ามือ
พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ ตั้งอยู่ 99 ถนนสุขุมวิท ตรงข้าม โรงเรียนนายเรือ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นที่รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเรือไทย และยุทธนาวีครั้งสำคัญๆ นอกจากนี้ยังมีเรือจำลองสมัยต่าง ๆ เรือที่ใช้ในพระราชพิธีกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค เรือรบหลวงพระร่วง เรือหลวงมัจฉานุ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำลำแรกของกองทัพเรือไทย
ตลาดคลองสวน 100 ปี ตั้งอยู่ตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยชาวจีนกลุ่มหนึ่งเมื่อราว พ.ศ. 2444 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 100 ปี ตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่บนฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์เชื่อมต่อคลองพระยานาคราช ตลาดคลองสวนเป็นศูนย์รวมของการติดต่อค้าขาย และแลกเปลี่ยนสินค้าของผู้คนจากหมู่บ้านต่าง ๆ หลายหมู่บ้าน บริเวณใกล้กับตลาดคลองสวนมีฟาร์มเพาะเลี้ยงเป็ดมากกว่า 10 แห่ง อาหารขึ้นชื่อของที่นี้คือเป็ดพะโล้
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 10 ต.บางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ตลาดบางน้ำผึ้งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2547 เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบลบางน้ำผึ้ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของชาวบ้านร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และ อบต.บางน้ำผึ้ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และสนับสนุนให้ชาวบ้านมีรายได้จากการนำผลผลิตในท้องถิ่นของตนเองมาจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้ และก่อให้เกิดการสร้างงานภายในชุมชน ส่งผลทำให้ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเมื่อเปิดตลาดน้ำ ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี “ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง” นับเป็นตลาดใกล้กรุงที่มีสินค้าหลากหลายทั้งของกินของใช้ของฝากนานาชนิด จัดเป็นซุ้มให้มีทางเดินยาวกว่า 2 กิโลเมตร ขนานไปกับคลองซอยสายเล็ก ๆ ที่แตกแขนงจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในพื้นที่ที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน จัดจำหน่ายต้นไม้นานาพันธุ์, ปลาสวยงามหลากชนิด, และผลิตผลของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมสินค้า OTOP ที่สร้างสรรค์จากคนในชุมชนบางน้ำผึ้งและตำบลใกล้เคียงในจังหวัด สมุทรปราการ เช่น ดอกไม้เกล็ดปลา บ้านธูปสมุนไพร ผลิตภัณฑ์จากทะเล โมบายล์ ลูกตีนเป็ดรูปร่างแปลกตา เป็นต้น
อุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ (ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ) ตั้งอยู่บริเวณริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลแหลมฟ้าผ่า อยู่ห่างจากแยกพระสมุทรเจดีย์ ไปตามถนนสุขสวัสดิ์ เป็นป้อมที่ทันสมัยและมีบทบาทสำคัญยิ่งในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ซึ่งเป็นที่ทำการยิงต่อสู้กับอริราชศัตรูมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) และที่จารึกอยู่ในความทรงจำของคนไทยและประวัติศาสตร์ชาติไทยมายาวนาน เพราะในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังแสวงหาเมืองขึ้น บรรดาประเทศต่างๆ ที่อยู่ติดเขตแดนไทย ก็ถูกประเทศทั้งสองเข้าครอบครองไปหมดแล้ว นับเป็นภัยใหญ่หลวงสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทย พระองค์จึงทรงหาวิธีป้องกันต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันทางน้ำ ทรงดำริให้ปรับปรุงป้อมต่างๆ ทางปากน้ำ โดยจ้างชาวต่างประเทศที่ชำนาญการทหารเรือเป็นที่ปรึกษาวางแผนในการปรับปรุง กิจการทหารเรือในครั้งนั้นด้วย
พระสมุทรเจดีย์ ตั้งอยู่ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลปากคลองบางปลากด ในวัดพระสมุทรเจดีย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงกันข้ามกับศาลากลางจังหวัด ซึ่งเดิมพระเจดีย์นี้ตั้งอยู่บนเกาะกลางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายป้อมผีเสื้อสมุทร ต่อมาชายตลิ่งฝั่งขวาของแม่น้ำตื้นเขินงอกออกมาเชื่อมติดกับเกาะอันเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ ปัจจุบันจึงไม่มีสภาพเป็นเกาะอีกต่อไป พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์นี้ขึ้นแต่ยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อเป็นพระเจดีย์สูง 20 เมตร ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปทรงพระเจดีย์เป็นแบบระฆังคว่ำ สูง 38 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระชัยวัฒน์ และพระปางห้ามสมุทรไว้
ประเพณีรับบัว เกิดจากชาวมอญพระประแดงที่ไปทำนาในฤดูทำนา ณ อำเภอบางพลี และเมื่อหมดฤดูก็จะกลับไปพระประแดง ซึ่งจะพอดีกับเทศกาลออกพรรษา จึงเก็บดอกบัวที่มีอยู่มากมายที่ตำบลบางพลีใหญ่กลับไปด้วย ต่อมาชาวอำเภอบางพลีเห็นว่าชาวมอญมักจะเก็บดอกบัวกลับไปทุกปี จึงเก็บดอกบัวเตรียมไว้ให้ด้วยความเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ ในระยะแรกมีการส่งให้กับมือ ต่อมาเกิดความคุ้นเคยกันมากขึ้น จึงโยนบัวให้กันหากอยู่ไกลต่อมาชาวบ้านซึ่งนิยมถวายดอกบัวแก่พระในวันออกพรรษาจึงได้สร้างกิจกรรม งานประเพณีรับบัว ให้ได้มีการระลึกถึงกันและเป็นโอกาสให้ได้ร่วมทำบุญทำกุศล อีกทั้งยังเป็นการร่วมสนุกกันเป็นประจำทุกปี
สงกรานต์พระประแดง เป็นงานประเพณีสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ จัดโดยความร่วมแรงร่วมใจของชาวไทยเชื้อสายมอญ ในแต่ละปีสงกรานต์พระประแดงจะเริ่มในวันอาทิตย์แรกหลังวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งเดิมเรียกว่า สงกรานต์ปากลัด ในงานมีขบวนแห่นางสงกรานต์ การละเล่นพื้นเมืองของชาวมอญ เช่น การสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ปล่อยนกปล่อยปลา การเล่นสะบ้า และเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ขบวนแห่นางสงกรานต์จะมีสาวงามแต่งชุดไทยหรือชุดรามัญ(มอญ) เดินแถวเรียงหนึ่ง ส่วนหนึ่งถือโหลปลา และอีกส่วนหนึ่งถือกรงนก เดินนำหน้ารถนางสงกรานต์ขนาบข้างด้วยชายหนุ่มชาวรามัญที่แต่งกายด้วยผ้าโสร่ง สวมเสื้อคอกลม ห่มผ้าสไบคล้องคอ ตวัดชายสไบไปด้านหลังซึ่งเรียกว่าชุดลอยชาย